เทคโนโลยีชีวภาพ คืออะไร นำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

การนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเกษตร การผลิตสินค้า และใช้ในด้านอื่นๆ จะต้องอาศัยความรู้ทางชีววิทยาและวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ซึ่งจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใดบ้าง สามารถอ่านได้ที่บทความนี้

เทคโนโลยีชีวภาพ คืออะไร?

เทคโนโลยีชีวภาพ คือ เทคโนโลยีที่ได้นำเอาความรู้ด้านต่างๆทางวิทยาศาสตร์ นำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ เช่น การใช้จุลินทรีย์ การผลิตยาปฏิชีวนะ การบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

รูปแบบของเทคโนโลยีชีวภาพ

  • เทคโนโลยีชีวภาพดั้งเดิม เป็นรูปแบบของเทคโนโลยีชีวภาพที่มีมานานแล้ว ไม่ได้ใช้วิธีการทางชีววิทยาหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ตัวอย่างเช่น ใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในการทำปุ๋ยหมัก ใช้สิ่งมีชีวิตในการกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น
  • เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ รูปแบบนี้จะต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคนิคทางชีววิทยาขั้นสูง เพราะจะมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ความรู้ทางพันธุศาสตร์ สำหรับการตัดแต่งพันธุกรรม เพื่อให้สิ่งมีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เรียกว่า พันธุวิศวกรรม โดยจะเป็นการคัดเลือกนำเอายีนที่มีลักษณะเฉพาะจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง แล้วนำมาใส่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ก็จะได้สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะตามต้องการ เช่น การตัดต่อยีนเพื่อให้พืชทนทานต่อโรค การโคลนนิ่ง เป็นต้น

ตัวอย่างของเทคโนโลยีชีวภาพ

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของพืช

สำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของพืชถือว่าเป็นการโคลนรูปแบบหนึ่ง โดยจะนำเอาชิ้นส่วนของพืชมาเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ ซึ่งจะประกอบไปด้วยธาตุอาหารต่างๆ มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง

น้ำหมักชีวภาพ

เป็นสารละลายที่ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์จำนวนมาก น้ำหมักชีวภาพได้จากการหมักซากพืชซากสัตว์ ผสมกับสารที่ให้ความหวาน มีกลิ่นเปรี้ยว สีออกน้ำตาล นำมาใช้ปรับความสมดุลสิ่งแวดล้อม และช่วยในการขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้

การโคลน

เป็นการสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้อาศัยเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย แต่จะเป็นการใช้เซลล์ร่างกายสำหรับการสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ การโคลนนั้นเพื่อต้องการขยายพันธุ์สัตว์ให้ได้จำนวนมากๆ และจะต้องมีลักษณะเหมือนกับตัวต้นแบบ

การทำโยเกิร์ตและนมเปรี้ยว

เป็นการใช้แบคทีเรียต่างๆ ได้แก่ สเตรปโตค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส และแลคโตบาซิลัส เอซิโดซิส นำมาหมักกับนม ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้จะย่อยน้ำตาลแลคโตสที่มีอยู่ในนมให้เปลี่ยนเป็นกรดแลคติค ส่งผลให้นมเกิดภาวะกรดและนมจะมีรสเปรี้ยว โดยจะทำได้สองแบบ ได้แก่ โยเกิร์ต และนมเปรี้ยว

การถ่ายฝากตัวอ่อน

เป็นการนำเอาตัวอ่อนที่เกิดจากการผสมระหว่างอสุจิของสัตว์พ่อพันธุ์ และไข่ของแม่พันธุ์ แล้วเก็บออกมาจากมดลูกแม่พันธุ์ จากนั้นจึงนำไปฝากในมดลูกของตัวเมียอีกตัวจนกระทั่งคลอดออกมา

มีการนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพไปใช้ในด้านต่างๆมากมาย เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้คน นอกจากนี้ก็ยังสามารถช่วยปรับปรุงเรื่องของสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นได้