ประโยคไหนควรพูดและไม่ควรพูดกับผู้ป่วยซึมเศร้า

“โรคซึมเศร้า” กลายเป็นโรคที่มีคนป่วยเพิ่มมากขึ้น และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนต้องพบแพทย์ ทานยา “คำพูด” สามารถเยียวยาจิตใจ หรือทำร้ายจิตใจได้ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะการเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ประโยคที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

คำพูบางคำหรือบางประโยคอาจเป็นการซ้ำเติมความรู้สึกของผู้ป่วยได้ เช่น

“จะกังวลทำไม ไม่เห็นจะน่าเครียดเลย” : เรื่องเล็กสำหรับเราอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา

“ไปปฏิบัติธรรมมั้ย” : อาจไม่ใช่แนวทางของใครหลาย ๆ คน แต่ถ้าเขาชอบทางนี้อยู่แล้ว ก็สามารถชักชวนได้

“ไปพบหมอทำไม จะกินยาไปทำไม จัดการที่ใจตัวเองสิ” : การที่เขาตัดสินใจรับการรักษา นั่นคือเขาไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้และต้องการความช่วยเหลือแล้ว

“หลายคนเค้าแย่กว่าเธอเยอะ” : การเปรียบเทียบกับคนอื่น ทำให้เกิดความรู้สึกสับสนว่าตัวเขาเองหรือเปล่าที่แย่

“เธอจะไม่เป็นแบบนี้เลย ถ้าตอนนั้นเธอ….” : เป็นการตัดสินว่าเขาเลือกทางผิด ผู้ป่วยหลายคนมีแนวโน้มจะโทษตัวเอง

“เธอต้องปล่อยวาง ให้อภัย” : การปล่อยวางไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย คำแนะนำนี้จะยิ่งทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่เข้าใจเขา

“อย่าไปคิดถึงมัน” : โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะไม่สามารถหยุดคิดหรือหยุดเศร้าได้ จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยจะยิ่งทุกข์มากขึ้น

ประโยคที่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

“อยากคุยเรื่องนี้มั้ย? ฉันพร้อมจะฟังเธอเสมอ” : แม้ว่าเราจะไม่เข้าใจเรื่องราวนั้น ๆ แต่เราก็สามารถอยู่ตรงนั้นเพื่อให้กำลังใจ ฟังอย่างตั้งใจ

“อยากให้ฉันช่วยอะไร” : เป็นคำถามที่เปิดกว้างให้เขาบอกสิ่งที่ต้องการ

“พักหน่อยมั้ย” : ถ้าเขากำลังกังวลมากจนกระสับกระส่ายทำอะไรไม่ถูก ควรช่วยให้เขาเบี่ยงเบนความสนใจไปทำเรื่องง่าย ๆ

“เราจะอยู่ข้างๆเธอนะ” : ย้ำเตือนว่าเราพร้อมจะดูแลเขาเมื่อเขาต้องการ

“เธออยากฟังคำแนะนำของฉันไหม หรือเธออยากเล่ามากกว่า”: ควรให้เขาตัดสินใจเองว่าต้องการสิ่งนั้นหรือไม่ อย่ายัดเยียด

“ฉันเอาขนมมาให้เธอนะ” : หากไม่รู้จะพูดอย่างไรแต่อยากดูแลเขา สามารถดูแลเรื่องอื่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เขาสบายตัวมากขึ้นได้ เช่น อาหาร

“ขอบคุณที่เล่าให้ฉันฟังนะ” : ถ้าเขาไว้ใจเล่าเรื่องราวให้เราฟัง อย่าลืมที่จะขอบคุณความไว้วางใจที่เขามีให้ ชื่นชมความกล้าของเขาที่จะแบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจกับเรา

การเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมและการรับฟังอย่างจริงใจเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คำพูดที่แสดงถึงความเข้าใจและการไม่ตัดสินจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจและสบายใจในการเปิดใจ