ฟันคุดคืออะไร อันตรายไหมถ้าไม่ผ่าออก

หลายๆคนคงเคยได้รับคำแนะนำจากคุณหมอให้ผ่าฟันคุดออก ทั้งๆที่ไม่เคยเห็นว่าฟันคุดอยู่ตรงไหน และไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อชีวิตประจำวัน แต่สำหรับบางคนส่งผลกระทบอย่างมาก เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับฟันคุด เราจะคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับฟันคุดให้คะ

ฟันคุด คืออะไร 

ฟันคุด คือ ฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติ เป็นฟันที่ฝังตัวอยู่ใต้เนื้อเยื่อของเหงือก และบริเวณกระดูกขากรรไกร ฟันคุดจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหากตัวฟันไม่ได้โผล่พ้นขึ้นมาเหนือเหงือก จะต้องใช้การเอกซเรย์จึงจะสามารถเห็นได้ 

ลักษณะของฟันคุด? 

ฟันคุดแบ่งได้ตามลักษณะการขึ้นของแนวฟันคุด ซึ่งมี 3 แบบ 

1.ฟันคุดที่ขึ้นในเเนวตรง (Vertical impaction) 

2.ฟันคุดที่ขึ้นในแนวนอน (Horizontal impaction) 

3.ฟันคุดที่ขึ้นแนวเฉียง 

หากไม่ผ่าฟันคุดออกจะเกิดอะไร? 

ฟันคุดหรือฟันกรามซี่สุดท้าย จำเป็นต้องมีการถอน หรือผ่าออก โดยทันตแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมช่องปาก เพราะว่าอยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติ หรือไม่ได้อยู่ในแนวที่เดียวกับฟัน ส่วนมากฟันคุดจะเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย หรือช่วงอายุยี่สิบต้นๆ หากปล่อยฟันคุดไว้จะมีความเสี่ยงต่อภาวะต่างๆ เช่น 

  • เมื่อฟันคุดงอกขึ้นมาในช่องปากเพียงบางส่วน เหงือกที่ปกคลุมฟันมักมีเศษอาหารไปติดใต้เหงือก ทำความสะอาดได้ยาก จนมีการอักเสบบวมแดง และติดเชื้อ เกิดเป็นหนอง จนเกิดการปวด หากการติดเชื้อลุกลามไปมากขึ้น อาจ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 
  • ฟันคุดที่ขึ้นมาในลักษณะเอียง จะทำให้มีเศษอาหารที่ติดระหว่างฟันคุดและฟันข้างเคียง ไม่สามารถทำความสะอาดได้ทั่วถึง เกิดเป็นกลิ่นปาก 
  • เกิดฟันผุที่ฟันกรามซี่ข้างเคียง 
  • สาเหตุของการเกิดโรคปริทันต์ (โรคเหงือก) 
  • เกิดถุงน้ำบริเวณขากรรไกร ซีสต์เนื้องอกรอบๆ ฟันคุด มีผลทำให้ฟันเคลื่อนที่ผิดตำแหน่งเดิม กระดูกรอบๆ เกิดการกร่อนละลาย  เป็นอันตรายกับเหงือกและฟันใกล้เคียง จนถึงอาจขยายขนาดใหญ่จนใบหน้าผิดรูป มีปัญหาการสบฟันตามมาได้ 
  • มีอาการปวดเรื้อรังหรือรู้สึกไม่สบาย เนื่องจากแรงดันของฟันคุด 
  • ฟันยื่น ฟันเก กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลาย จากแรงดันตัวของฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา 
  • ส่งผลต่อการจัดเรียงฟัน ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดฟันได้ในตำแหน่งที่ไม่ดี หรือมีฟันหน้าซ้อนเก 
  • เกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อหุ้มฟัน 

ฟันคุดเป็นฟันที่ควรต้องผ่าหรือถอนออก เพื่อป้องกันผลกระทบกับแนวฟันและฟันซี่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง รวมทั้งยังเป็นการป้องกันโรคเกี่ยวกับช่องปากอีกด้วย วิธีที่ดีที่สุดควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน