โรคมือเท้าปาก อาการของโรค การป้องกัน และการรักษา

สำหรับโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ โดยทั่วไปแล้ววัยเด็กมักจะเป็นโรคนี้ โดยสามารถอ่านเกี่ยวกับอาการของโรค การรักษา และการป้องกันได้ที่บทความนี้

โรคมือเท้าปาก คืออะไร?

โรคมือเท้าปาก คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อเอนเตอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งจะพบได้บ่อยในเด็กเล็ก โดยมักจะมีการระบาดในช่วงหน้าฝน

อาการของโรค

สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก จะมีอาการไข้ อาจเป็นไข้สูงหรือไข้ต่ำก็ได้ มีน้ำลายไหล เจ็บปาก รับประทานอาหารได้น้อยเพราะมีแผลที่เพดานปากและกระพุ้งแก้ม มีตุ่มน้ำใสหรือผื่นเป็นจุดแดง ที่บริเวณฝ่าเท้า ฝ่ามือ อวัยวะเพศ และบริเวณรอบก้น นอกจากนี้อาจมีผื่นขึ้นที่ขา แขน และลำตัวได้ จะมีอาการเหล่านี้ประมาณ 2-3 วัน และอาการจะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ผู้ปกครองก็ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพราะบางครั้งเด็กอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

ภาวะแทรกซ้อนที่ควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันที

  • ไม่อยากเล่น มีอาการซึม และไม่อยากที่จะรับประทานอาหาร
  • มีอาการหน้าซีด ไอ มีเสมหะ หายใจเร็ว ดูเหนื่อย และอาจจะมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้
  • เด็กพูดเพ้อ พูดไม่รู้เรื่อง มีอาการซึมลง
  • เด็กมีอาการปวดศรีษะอย่างมาก
  • เด็กมีอาการตัวสั่น สะดุ้งผวา

โรคมือเท้าปากติดต่อกันได้อย่างไร

โรคนี้สามารถติดต่อกันได้โดยตรงเมื่อสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และติดต่อได้โดยการสัมผัสทางอ้อมผ่านทางมือผู้เลี้ยงดู น้ำ อาหาร และของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โรคนี้มักแพร่ระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล สามารถที่จะเป็นโรคนี้ซ้ำได้หากได้รับเชื้อไวรัสที่ไม่ใช่สายพันธุ์ที่เคยเป็น เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากหายจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่เป็น อาจป้องกันการติดเชื้อไวรัสจากสายพันธุ์อื่นๆไม่ได้

การป้องกัน

  • ทำความสะอาดของใช้ ของเล่น และพื้นที่ที่เด็กมีการใช้ร่วมกัน เพื่อลดเชื้อโรคที่อาจปะปนอยู่กับสิ่งแวดล้อม
  • ผู้เป็นพ่อแม่ควรคัดกรองอาการของเด็กก่อนพามาที่สถานศึกษา หากเด็กมีไข้หรือไม่สบาย ก็ควรที่จะพาไปพบแพทย์
  • ให้เด็กหมั่นล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ หรืออาจใช้เจลแอลกอฮอล์หลังสัมผัสของเล่น หลังเข้าห้องน้ำ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคบนมือ
  • ควรให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน
  • ให้หลีกเลี่ยงใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน แก้วน้ำ เป็นต้น
  • ดูแลในเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม
  • ในช่วงมีการระบาดของโรค ก็ยังไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามเด็กเล่น หากเด็กมีอาการป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ควรพาไปพบแพทย์ และพักรักษาให้หายก่อน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อ

การรักษา

แพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ไข้ แก้ปวด ยารักษาแผลในช่องปาก หากเพลียมากแพทย์ก็อาจให้น้ำเกลือ และแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะกรณีที่มีความจำเป็น นอกจากนี้ก็จะเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

ผู้ปกครองควรหมั่นดูแลสุขอนามัยของเด็กให้ดี เพื่อเป็นการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก รวมทั้งป้องกันเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสอื่นๆที่อาจติดต่อมาสู่เด็กได้