ทำความเข้าใจกับการรักษาภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยด้วยฮอร์โมน

ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย คือภาวะที่เด็กผู้หญิงเริ่มมีเต้านมก่อนอายุ 8 ปี โดยเต้านมนี้จะนับตั้งแต่เริ่มคลำได้เป็นไตเล็ก ๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร ถ้าเห็นเป็นเต้าชัดเจนหรือเริ่มมีประจำเดือนเป็นสิ่งบ่งบอกว่าเด็กเข้าวัยสาวมานานก่อนหน้านั้นแล้ว ส่วนเด็กผู้ชาย จะมีการเพิ่มขนาดของลูกอัณฑะก่อนอายุ 9 ขวบ ซึ่งอาจสังเกตเองได้ยาก ส่วนที่สังเกตได้ง่ายกว่า เช่น การเพิ่มขนาดขององคชาติ หรือการมีกลิ่นตัว เสียงแตก สิว หน้ามัน และขนหัวหน่าวขึ้น บ่งบอกว่าเด็กเข้าวัยหนุ่มมานานก่อนหน้านั้นเช่นกัน

เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ช่วงที่เป็นหนุ่มสาว เด็ก ๆ จะมีความสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นนอกจากลักษณะการเป็นหนุ่มสาว การที่เด็กดูโตเร็วหรือตัวโตกว่าเพื่อนที่เพศและวัยเดียวกันมาก ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยสังเกตได้ โดยเด็กที่มีภาวะนี้มักมีอายุกระดูกที่ล้ำหน้าอายุจริง ทำให้ถึงแม้ว่าช่วงแรกสูงเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่มักจะหยุดสูงก่อนเพราะกระดูกปิดก่อน ในบางรายจึงอาจส่งผลเสียต่อความสูงสุดท้ายที่ควรจะเป็น 

การรักษาภาวะหนุ่มสาวก่อนไว้มีกี่วิธี 

การรักษาภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย จะขึ้นกับสาเหตุ ในกรณีมีสาเหตุ เช่น เป็นเนื้องอกไม่ว่าบริเวณไหนต้องรักษาด้วยการผ่าตัด อาจจำเป็นต้องตามด้วยการฉายแสงหรือเคมีบำบัดแล้วแต่กรณี แต่ในกรณีที่ไม่พบสาเหตุการรักษานั้นจำทำด้วยการให้ยาฮอร์โมนสังเคราะห์ กลุ่ม Gonadotropin Releasing Hormone Analogue (GnRH-analogue) เพื่อชะลอการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวของเด็ก

ยาฮอร์โมนสังเคราะห์ GnRH-analogue 

เป็นฮอร์โมนที่ยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนโกนาโดโทรปินส์จากต่อมใต้สมอง มีผลทำให้รังไข่ในผู้ป่วยเด็กหญิงและอัณฑะในผู้ป่วยเด็กชายสร้างฮอร์โมนเพศลดลง โดยจะให้ในรูปแบบการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยยานี้มีสองแบบ คือ แบบฉีดทุก 4 สัปดาห์ และแบบฉีดทุก 12 สัปดาห์ ติดต่อกันไปจนอายุประมาณ 10-12 ปี 

รักษาด้วยฮอร์โมนจะได้ผลดีหรือไม่ 

ผลการรักษาจะมากหรือน้อยแค่ไหนขึ้นกับอายุของเด็ก และอายุกระดูกขณะที่เริ่มให้การรักษา รวมทั้งระยะเวลาที่เริ่มรักษาว่าเร็วแค่ไหน ในด้านของส่วนสูงนั้นอาจเพิ่มขึ้น 5-10 เซนติเมตร หรือเท่ากับส่วนสูงที่ควรจะเป็นตามพันธุกรรมมากกว่าเมื่อเทียบกับก่อนให้การรักษาและกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาเลย หลังหยุดยาเด็กจะมีการพัฒนาเข้าสู่วัยหนุ่มสาวตามปกติ ทั้งนี้ยามีความปลอดภัยสูงอาการข้างเคียงพบได้น้อยมากและไม่รุนแรง